สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบ เมื่อต้องได้รับเลือด

By | สิงหาคม 17, 2017

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ให้เลือด

การให้เลือดคืออะไร ?

การให้การรักษาด้วยเลือด และส่วนประกอบของเลือด เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาที่สำคัญมาก ผู้ป่วยที่มีภาวะต่าง ๆ เช่น เสียเลือดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด มีภาวะซีด โลหิตจางเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย หรือเป็นมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด อาการดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องได้รับเลือด และส่วนประกอบของเลือด เช่น น้ำเหลือ พลาสม่า เกร็ดเลือด เพื่อการรักษาทั้งสิ้น

เลือดที่ท่านได้รับมาจากไหน ?

ผู้บริจาคเลือดเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีผู้บริจาคเลือดเต็มใจเดินทางมาบริจาคแล้ว ขบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้เลือดคงไม่เกิดขึ้น เลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ผู้ป่วยได้รับ จะต้องมาจากมนุษย์เท่านั้น ไม่สามารถผลิตจากสารอื่นใด หรือผลิตจากโรงงานผลิตยาได้ การส่งเสริมให้มีผู้บริจาคเลือดที่ปลอดภัย พร้อมใจกันบริจาคเลือดให้ผู้ป่วย จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาจไม่มีเลือดให้ผู้ป่วย เพื่อการรักษาอย่างเพียงพอ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ให้เลือด

เลือดที่ท่านได้รับปลอดภัยหรือไม่ ?

ดังที่กล่าวแล้วว่า เลือดที่ให้ผู้ป่วยนั้น ต้องมาจากคนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อที่ไหลเวียนในร่างกายของผู้บริจาค การคัดเลือกผู้บริจาคเลือดให้ได้ผู้บริจาคที่ปลอดภัย และเต็มใจ จึงเป็นงานที่สำคัญมาก ผู้บริจาคเลือดที่คุณสมบัติไม่เหมาะสม ทางธนาคารเลือดจะขอให้งดบริจาคเลือดไว้ก่อน จนกว่าภาวะ หรือเหตุการณ์นั้นหมดไป และทำให้แน่ใจว่า ผู้บริจาคเลือดเป็นบุคคลที่ปลอดภัย และเต็มใจบริจาคเลือดให้ผู้อื่นอย่างแท้จริง

ในขบวนการจะมีการซักประวัติอย่างละเอียด และตรวจความสมบูรณ์ของร่างกาย เมื่อได้รับเลือดที่บริจาคมาแล้วจะมีการตรวจกรองการติดเชื้อ เชื้อต่าง ๆ ที่ตรวจได้แก่ เชื้อไวรัสเอดส์ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซี และเชื้อซิฟิลิส

ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการตรวจสูงขึ้นมาก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยที่รับเลือด แต่ถึงกระนั้นก็ตามความเสี่ยงจากการได้รับเลือดยังคงมีอยู่บ้าง ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดเพื่อการรักษา จะต้องเข้าใจ และยอมรับความเสี่ยง ได้แก่

  •           การติดเชื้อโรคอื่นที่ยังไม่มีการตรวจ เช่น เชื้อมาเลเรีย
  •           การติดเชื้อโรคที่แม้จะมีการตรวจ แต่ผู้บริจาคอาจจะอยู่ในระยะแรกจึงตรวจไม่พบ
  •           ปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับเลือด เช่น การมีไข้ ภาวะแพ้ต่าง ๆ

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับเลือด และส่วนประกอบของเลือดเป็นประจำ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ฮีโมฟีเลีย (Hemophelia) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้าใจ และยอมรับการรักษาด้วยเลือดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และมีประโยชน์

อีกด้านหนึ่ง ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าการรับเลือดคือ การรับเซลล์ หรือเนื้อเยื่อที่มาจากบุคคลอื่น จึงยังคงมีความเสี่ยงอยู่

แพทย์ผู้สั่งการรักษาได้พิจารณาอย่างเหมาะสมในการให้การรักษาด้วยเลือด และส่วนประกอบของเลือด จึงต้องการให้ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดแม้เพียงครั้งเดียว หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเลือดเป็นประจำ เข้าใจในความตั้งใจดีของผู้บริจาคเลือด และธนาคารเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเลือดที่ปลอดภัยที่สุด

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ถ้าท่านมีญาติ มีเพื่อน ที่ยินดีจะบริจาคเลือดให้ท่าน หรือให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช ธนาคารเลือดมีความยินดีอย่างยิ่ง โปรดเชิญชวนญาติของท่านมาบริจาคเลือดทดแทน

เลือดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย เปรียบเสมือนสายธารหล่อเลี้ยงชีวิต ตามปกติแล้ว มนุษย์จะมีเลือดไหลเวียนอยู่ในร่างกายประมาณ 4,000-5,000 ซีซี ดังนั้นการบริจาคเลือดเพียง 350-450 ซีซี หรือประมาณ 9% จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่จะมีผลดีคือ ช่วยให้ร่างกายมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดใหม่ออกมาชดเชย การบริจาคเลือดสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือนในผู้ชาย และทุก 6 เดือนในผู้หญิง