ตามติดชีวิต ‘คนเป็นเอดส์’

By | พฤษภาคม 22, 2015

เมื่อพูดถึง ‘คนเป็นเอดส์’ หลายๆคนอาจจะนึกถึง ผู้ป่วยที่นอนพะงาบรอความตายอยู่บนเตียง หรือคนป่วยที่มีน้ำหนองไหลเยิ้มไปทั่วร่างกาย แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคเอดส์ทุกระยะ  ผู้ป่วยโรคเอดส์บางคนสามารถออกมาเดินชอปปิ้ง ทำงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆได้ไม่แตกต่างอะไรกับคนปกติเลย เพราะตราบใดที่เชื้อโรคเอดส์ยังถูกควบคุมไว้ด้วยยา และพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ไปแพร่เชื้อโรคร้ายให้แก่ใคร คนเหล่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรเลยกับคนปกติอย่างเราๆ

คนที่ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าไปในร่างกาย อาจจะไม่จำเป็นต้องติดเชื้อเอดส์เสมอไป ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อนั้น ขึ้นอยู่กับหลากหลายตัวแปร เช่น จำนวนครั้งที่สัมผัสกับไวรัส ความร้ายกาจของไวรัสเอดส์ที่เข้าสู่ร่างกาย หรือภูมิต้านทานของร่างกายที่แต่ละคนมี เป็นต้น ซึ่งปัจจัยต่างๆก็ส่งผลอย่างยิ่งต่อการแสดงอาการของโรคเอดส์ อาการที่เกิดขึ้นสามารถเกิดได้หลายรูปแบบตามระยะการดำเนินของโรค ดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 – ระยะที่ไม่มีอาการ

หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อเอดส์เข้าไป  2 ถึง 3 สัปดาห์แรก ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการคล้ายๆกับการเป็นไข้หวัด นั่นคือ มีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หรือเป็นผื่นตามตัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฏเพียงแค่ 10-14 วัน และจะหายไปเองเหมือนเวลาที่เราเป็นหวัดทั่วๆไป ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทันสังเกต และคิดว่าเป็นอาการที่เป็นอยู่นี้เป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา

ประมาณ 6 ถึง 8 สัปดาห์ภายหลังการติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อจะยังไม่แสดงอาการใดๆ เพียงแต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจเลือด จะเริ่มพบว่ามี ‘ภาวะเลือดบวก’ หรือหมายความว่า มีภูมิคุ้นเคยต่อไวรัสเอดส์อยู่ในเลือด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะตรวจพบว่ามีเลือดบวกภายหลังจากการรับเชื้อไปแล้ว 3 เดือน ซึ่งภาวะเช่นนี้ ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีน “แอนติบอดี (antibody)” ขึ้นมาทำปฏิกิริยากับไวรัสเอดส์ เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีเชื้อเอดส์เข้ามาสู่ร่างกายแล้ว แต่ยังไม่สามารถจะเอาชนะไวรัสเอดส์ได้

จากการศึกษาพบว่า การใช้ชุดตรวจเอชไอวีที่ไม่มีคุณภาพ ผู้ป่วยบางคนอาจจะต้องรอนานถึง 6 เดือน กว่าที่เลือดจะแสดงผลเป็นบวก ดังนั้น หากใครที่คิดว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ก็จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์  เพื่อป้องกันการเพิ่มโอกาสการแพร่กระจายเชื้อ และต้องหมั่นไปตรวจเลือดบ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจจริงๆว่าคุณยังคงปลอดภัยจากไวรัสชนิดนี้อยู่

ในช่วงเวลานี้ ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตได้ โดยจะปรากฎอยู่เป็นระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ต่อมน้ำเหลืองนี้จะมีลักษณะเป็นเม็ดแข็งกลม ลักษณะคล้ายลูกประคำ ขนาด 1 ถึง 2 เซนติเมตร โดยจะพบอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณข้างลำคอทั้ง 2 ข้าง  หรืออาจพบได้ที่รักแร้และขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้จะเป็นที่บ่มเพาะของเชื้อไวรัสเอดส์ ซึ่งจะแบ่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะออกมาแพร่ความร้ายกาจไปทั่วร่างกาย

 ภาพจาก : http://hepatitisoutreachsociety.com/tag/travel/

ระยะที่ 2 – ระยะที่เริ่มมีอาการหรือระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์

เป็นระยะที่คนไข้เริ่มแสดงอาการ แต่ยังไม่เต็มขั้น อาการในช่วงนี้อาจเป็นในลักษณะของการเป็นไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด หรือท้องเสียงเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีเชื้อราในช่องปาก เป็นเริมในช่องปาก มีผื่นขึ้นตามลำตัว แขน และขา  ซึ่งโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าอาการที่เป็นในช่วงนี้ยังไม่จำเพาะสำหรับโรคเอดส์เสมอไป คนที่เป็นโรคอื่นๆก็อาจจะมีอาการเจ็บป่วยเช่นนี้ได้เสมอ  ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเกิดอาการดังที่กล่าวมานี้ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดพิสูจน์ว่า คุณนั้นเข้าข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือเป็นเพียงอาการป่วยธรรมดาๆเท่านั้น

ระยะที่ 3 – โรคเอดส์เต็มขั้น หรือที่ภาษาทางการเรียกว่าโรคเอดส์

โรคเอดส์เต็มขั้น เป็นระยะที่ภูมิต้านทานของร่ายกายถูกทำลายลงไปอย่างมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการของการติดเชื้อจำพวกเชื้อฉกฉวยได้บ่อยๆ และเกิดเป็นมะเร็งบางชนิดได้ โดยเชื้อฉกฉวยในที่นี้ หมายถึง การติดเชื้อที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงในคนปกติ แต่หากบุคคลนั้นมีภูมิต้านทานต่ำลง จะทวีความรุนแรงของอาการที่มากขึ้น เช่น การได้รับยาบางชนิดอาจทำให้เกิดเป็นวัณโรคที่ปอด ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือสมองได้

ตัวอย่างของเชื้อฉกฉวยที่จะกล่าวถึง ได้แก่ เชื้อพยาธิที่ชื่อว่า “นิวโมซิส-ตีส-คารินิไอ” ซึ่งทำให้เกิดโรคปอดบวมขึ้นได้ หรือจะเป็นเชื้อราที่ชื่อว่า “คริปโตคอคคัส” ซึ่งทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนเชื้อ “ซัยโตเมกกะโลไวรัส (CMV)” ก็ส่งผลให้ตาบอดหรือทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย และถ่ายเป็นเลือดได้

นอกจากนี้ยังมีเชื้อราอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “แคโปซี่ซาร์โคมา” ซึ่งพบได้ตามเส้นเลือดที่ผิวหนัง โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีม่วงแดง คล้ายๆกับจุดห้อเลือดหรือไฝ  จุดดังกล่าวจะขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ  และบางครั้งอาจแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้ เชื้อไวรัสชนิดนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอดส์ทุกคน จึงควรตรวจมะเร็งปากมดลูกอยู่เสมอทุกๆ 6 เดือน

ส่วนใหญ่ของคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์เต็มขั้น จะเสียชีวิตภายใน 2 ถึง 4 ปี จากโรคติดเชื้อที่ยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้ผล หรือจากการเป็นมะเร็งที่อันตรายมากๆ อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์มีการคิดค้นผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ขึ้นมาได้หลากหลายชนิด ซึ่งยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สามารถยืดชีวิตของคนไข้ออกไปได้นาน 10 ถึง 20 ปี หรือจนกว่าผู้ป่วยคนนั้นจะสิ้นชีวิตจากความชรา