บทความเรื่อง “ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่” โดย ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์

By | มกราคม 10, 2019

การแพร่หรือการส่งต่อไวรัสเอชไอวีจากคนหนึ่ง (ที่ติดเชื้อ) ไปสู่อีกคนหนึ่ง (ที่ยังไม่ติดเชื้อ) เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน กับคนที่ติดเชื้อ หรือจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดที่ปนเปื้อนเลือดของคนที่ติดเชื้อจะแพร่หรือส่งต่อเชื้อได้จะต้องมีปริมาณเชื้อที่มากได้ระดับหนึ่งในเลือด หรือในน้ำคัดหลั่งที่อยู่ในช่องคลอด ช่องทวารหนัก หรือในน้ำกาม โดยทั่วไปจะใช้เกณฑ์ปริมาณไวรัสในเลือดมากกว่า 200 – 1,000 ตัว (copies) ต่อซีซี ของเลือดเป็นตัวเทียบเคียง ผู้ติดเชื้อกว่าร้อยละ 90-95 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะมีปริมาณไวรัสในเลือดต่ำกว่า 50 copies ต่อซีซีของเลือด ที่เราเรียกกันว่าตรวจไม่เจอ (undetectable) ซึ่งไม่ได้แปลว่าเชื้อหมดจากร่างกายแล้ว เพียงแต่มีเหลือน้อยมากจนชุดทดสอบตรวจไม่เจอ ชุดทดสอบอาจตรวจเจอได้ต่ำสุดที่ 20 หรือ 40 หรือ 50 copies ที่ตรวจไม่เจอ เพราะยาต้านฯไปกดเชื้อไว้ ถ้าหยุดกินยาต้านฯ เชื้อก็จะกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น จะตรวจไม่เจอได้ก็ต้องกินยาต่อเนื่องตรงเวลาไปเรื่อย ๆ และตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง หรืออาจบ่อยกว่านั้นถ้ามีประวัติขาดยา

คำถามสำคัญคือ ผู้ติดเชื้อที่กินยาจนตรวจไม่เจอไวรัสในเลือดแล้ว

ยังสามารถส่งต่อเชื้อให้คู่นอนเขาได้หรือไม่?

ในระยะ  8 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาหลายการศึกษาทั่วโลกที่ติดตามคู่นอน  (ชายกับหญิง และ ชายกับชาย) ของผู้ติดเชื้อที่กินยาต้านฯ จนตรวจไม่เจอเชื้อในเลือดแล้ว ว่าจะมีโอกาสติดเชื้อขึ้นจากคู่นอนของเขาได้มากน้อยเพียงใด โดยติดตามคู่นอนที่มีผลเลือดต่าง (คนหนึ่งบวกหรือติดเชื้อ อีกคนหนึ่งลบหรือไม่ติดเชื้อ) ซึ่งเคยมีประวัติว่าไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยบ้าง ไปเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อดูว่าจะมีอัตราการติดเชื้อขึ้นมามากน้อยเพียงใด  ทุกคู่จะได้รับคำแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์ พร้อมมีถุงยางอนามัยกับสารหล่อลื่นแจกให้   หลังจากติดตามคู่ไปหลายปี ก็มีการประกาศผลในที่ประชุมเอดส์นานาชาติที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ว่าไม่ปรากฏว่ามีใครติดเชื้อแม้เพียงคนเดียว จากการติดตามคู่ชายหญิงที่มีผลเลือดต่าง 888 คู่ คู่ชายกับชายที่มีผลเลือดต่าง 698 คู่ รวมเป็นคู่ที่มีผลเลือดต่างทั้งหมด 1,586 คู่จากหลายประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) ทั้งๆที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยรวมแล้วกว่า  70,000 ครั้ง ก็ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีแม้แต่รายเดียว  กล่าวคือ ไม่แพร่ (Untransmittable)แม้ว่าการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ยังมีอยู่  ขณะที่การไปมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอกโครงการ โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย 4,800 ครั้ง พบมีการติดเชื้อจากคู่นอกโครงการ 3 ราย จึงมีการประกาศเป็นครั้งแรกว่า ไม่เจอ=ไม่แพร่ หรือ Undetectable=Untransmittable (U=U)   

ในการประชุมปีถัดมาที่กรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 มีการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ PARTNER 2 ซึ่งแยกดูเฉพาะคู่ชายกับชายที่มีผลเลือดต่าง 972 คู่ โดยมีการเก็บข้อมูลจำนวนครั้งที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย  และไม่มีการใช้ยาป้องกันก่อน และหลังการสัมผัสเชื้อ  และคู่นอนที่ติดเชื้อยังมีปริมาณไวรัส  ในเลือดน้อยกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด (ตรวจไม่เจอ) พบว่าแม้จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย รวมแล้ว 76,991 ครั้ง (เฉลี่ยปีละ 43 ครั้งต่อคน) ไม่พบมีใครติดเชื้อแม้เพียงรายเดียว  (ผู้รายงานพูดว่าพยายามหาเท่าไรก็หาไม่เจอ!) แต่พบมีคนที่ติดเชื้อขึ้นมาใหม่ 15 คนซึ่งพิสูจน์ได้ว่าทุกคนติดมาจากคนนอกคู่   เป็นที่น่าสังเกตว่าร้อยละ 37  ของคนที่ไม่ติดเชื้อในโครงการนี้ยังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันกับคนที่ไม่ใช่คู่ของตัวเอง แสดงว่ายังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่  จากผลการศึกษาที่นำเสนอเพิ่มเติมในการประชุมปีนี้ตอกย้ำเรื่อง ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U) ว่าเป็นเรื่องจริง แม้จะดูเฉพาะคู่ที่มีผลเลือดต่างที่เป็นชายกับชาย เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าคู่ที่เป็นชายกับหญิง

หัวใจสำคัญของประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่คือ คนที่ติดเชื้อต้องกินยาต่อเนื่อง และต้องตรวจวัดปริมาณไวรัสในเลือดเป็นประจำถ้าน้อยกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด  ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของเขา ก็ไม่ทำให้คู่นอนติดเชื้อ 

โดยมีการถามกันว่า แม้จะมีการพูดถึง U=U ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีการนำประเด็นนี้ไปเผยแพร่ หรือไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเท่าไรนัก ทั้งนี้เพราะยังมีหลายฝ่าย ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนทั่วไปยังเป็นกังวลว่า บางประเทศอาจไม่สามารถตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดได้  คนไข้อาจกินยาไม่ต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณเชื้อกลับเพิ่มมากขึ้น จะเป็นอันตรายกับคู่  หรือเป็นห่วงว่าพูดไปแล้วอาจทำให้ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจมากขึ้น หรือทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆเป็นกันมากขึ้นเพราะไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันแล้ว  ข้อกังวลต่างๆ เหล่านี้มีมูลความจริง จะต้องช่วยกันแก้ หรือต้องให้คนไข้ร่วมมือ แต่ไม่ใช่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการนำประเด็น U=U ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวคนไข้เอง หรือต่อสังคม ซึ่งมีประโยชน์มหาศาล หรือมีประโยชน์มากกว่าข้อกังวลเยอะ

 

ในแง่ของระบบบริการสาธารณสุข แพทย์และพยาบาลน่าจะใช้ประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่อธิบายให้คนไข้เข้าใจ เพื่อจะได้ตั้งใจกินยาอย่างต่อเนื่อง และไปตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดตามสิทธิ์ทุกปี หรือตรวจเพิ่มถ้าขาดยา  พร้อมทั้งจัดบริการต่างๆให้พร้อม คอยติดตามถ้าคนไข้ไม่มาตามนัด ใช้สูตรยาที่มีประสิทธิภาพในการกดเชื้อจนตรวจไม่เจอ และมีบริการการตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นมิตรในโรงพยาบาล เป็นต้น เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะรู้จัก U=U ด้วยซ้ำ  ในแง่ผู้ติดเชื้อ ก็ต้องเข้าใจว่าถ้าจะไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับคู่นอน จะต้องกินยาต่อเนื่อง และไปตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดทุกปีตามสิทธิ์ และต้องรู้ผลของการตรวจนั้นว่าตรวจไม่เจอจริงหรือไม่ และต้องไปตรวจซ้ำถ้ามีการขาดยา ระหว่างนั้นต้องกลับมาใช้ถุงยางอนามัยไปก่อนและที่มีประโยชน์มากที่สุดกับผู้ติดเชื้อคือ ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น มีความมั่นใจตนเองมากขึ้น  กล้าตัดสินใจเปิดเผยผลเลือดของตนให้คู่นอนทราบมากขึ้น กล้าชวนคู่ไปตรวจเอดส์มากขึ้น กล้าตัดสินใจตั้งครรภ์มากขึ้น และเลิกโทษว่าตัวเองอาจทำให้คู่ติดเชื้อขึ้นมา เพราะไม่สามารถใส่ถุงยางอนามัยได้ทุกครั้ง  หรือไม่ต้องกลัวว่าพูดไม่จริงกับหมอเวลาหมอถามว่าใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งหรือเปล่า ก็ตอบว่าทุกครั้งเพราะเกรงใจหมอ ทั้งๆที่ในชีวิตจริงทำไม่ได้ทุกครั้ง  ในแง่คู่นอนของผู้ติดเชื้อถ้ายังไม่ติดเชื้อ และรู้ว่าคู่ของตัวติดเชื้อ ก็ต้องให้กำลังใจคู่ของตัวให้กินยาต่อเนื่อง และไปตรวจเลือดสม่ำเสมอ เวลาจะไปมีเพศสัมพันธ์นอกคู่ ต้องใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากคนที่ไม่ใช่คู่ และป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจนำกลับมาแพร่ให้คู่ของตัวเองได้  ในแง่ประชาชนทั่วไป หรือในภาคประชาสังคมประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่มีประโยชน์กว้างใหญ่ไพศาลกว่ากันมาก เมื่อสังคมเข้าใจประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ จะได้เลิกรังเกียจ และกีดกันผู้ติดเชื้อ สนับสนุนผู้ติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษา ไม่มีเหตุผลในการห้ามผู้ติดเชื้อไม่ให้เข้าทำงาน เพราะผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาแล้วไม่เป็นอันตรายต่อคู่นอนของเขาแม้จะไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็ตาม เขาก็ยิ่งไม่เป็นอันตรายต่อคนในที่ทำงาน อีกทั้งคนไข้ที่ได้รับยาก็จะมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุขัยเท่าคนอื่นๆที่ไม่ติดเชื้อ  สามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้ไม่แตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ และไม่เพิ่มภาระค่ารักษาพยาบาลให้กับองค์กร เพราะรัฐรับภาระการรักษาพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อทุกคน ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่น่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้สังคมมองโรคเอดส์เป็นโรคอันตราย เลิกตีตรา และเลิกรังเกียจผู้ติดเชื้อเสียที นอกจากนี้ประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ยังสามารถรณรงค์ให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือไม่เคยไปตรวจเลือดจะได้กล้าไปตรวจ เพราะถ้าตรวจเจอจะได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาทันที รักษาแล้วจะได้ไม่ป่วย มีอายุยืนเท่าคนอื่น และที่สำคัญจะช่วยป้องกันคนที่รักได้ด้วย

โดยสรุป ถ้าติดเชื้อและกินยาจนตรวจไม่เจอเชื้อในเลือดแล้ว คนๆนั้นไม่เป็นอันตรายกับใคร แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของเขาโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็ตาม  เรียกว่า ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U)  เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมควรรู้ เพื่อลดการตีตราและรังเกียจผู้ติดเชื้อ คนที่อาจมีเชื้ออยู่แล้วจะได้กล้าไปตรวจ คนที่ตรวจเจอจะได้กล้าไปรักษาและรักษาให้ดีจะได้ไม่ส่งต่อเชื้อให้ใคร  เอดส์ก็จะยุติได้ในประเทศนี้และโลกนี้

 

ด้วยความปรารถนาดี

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย